โรคเบาหวาน หายได้ !?!..

โรคเบาหวาน (ชนิดที่ 2) สามารถหายได้
หากควบคุมการรับประทานอาหารให้ไม่เกิน
วันละ 600 แคลอรี่

GiftBone




เบาหวานชนิดที่ 2 คือภาวะที่เซลล์ไม่สามารถตอบสนองต่ออินซูลินได้อย่างเหมาะสม  เมื่อโรคดำเนินไป อาจมีการขาดอินซูลินร่วมด้วย หรือคือภาวะที่ร่างกายไม่สามารถสร้างฮอร์โมนอินซูลินได้ ไม่สามารถนำอินซูลินไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นโรคเบาหวานชนิดที่พบได้มากที่สุด  ในอดีตเรียกกันว่า เบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลิน non-insulin-dependent diabetes[NIDDM] หรือ "เบาหวานที่เกิดในผู้ใหญ่" ผู้หญิงมักมีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าผู้ชาย โรคเบาหวานชนิดนี้เกิดจากหลายสาเหตุรวมกัน  สาเหตุหลักเกิดจากน้ำหนักเกิน หรือ โรคอ้วนและออกกำลังกายไม่เพียงพอ นอกจากนี้ยังรวมถึงการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา ซึ่งเครื่องดื่มเหล่านี้จะมีผลทำลายตับอ่อนด้วย หรือการใช้ยาพวกสเตียรอยด์ ยาคุมกำเนิด และยาขับปัสสาวะ โรคนี้มักจะเกิดกับผู้ป่วยอายุมากกว่า 30 ปีขึ้นไปที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน  และสามารถพบได้มากถึงร้อยละ 90 ในผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมด ผู้ที่มีความเสี่ยงทางพันธุกรรม จะมีโอกาสเป็นโรคนี้พบได้มากขึ้น เบาหวานเป็นโรคที่รักษาไม่หายขาดแม้ว่าจะควบคุมระดับน้ำตาลได้ดีแล้วก็ตาม ก็ยังต้องดูแลตัวเองอย่างต่อเนื่อง

จากข้อมูลของสหพันธ์โรคเบาหวานนานาชาติระบุว่า ปัจจุบันมีผู้หญิงมากกว่า 199 ล้านคนเป็นเบาหวานและจะเพิ่มเป็น 313 ล้านคนในปี 2040 อีกทั้งเบาหวานยังเป็นสาเหตุการเสียชีวิต อันดับที่ 9 ของผู้หญิงทั่วโลกอีกด้วย องค์การอนามัยโลกและสมาพันธ์ เบาหวานนานาชาติ (International Diabetes Federation หรือ IDF) ได้กำหนดให้วันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปีเป็นวันเบาหวานโลก (World Diabetes Day) เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนเห็นถึงอันตรายและร่วมกันป้องกันโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มุ่งเน้นให้ประชาชนใส่ใจเรื่องการกินอาหารที่มีประโยชน์ ทั้งยังเป็นการจัดการ เรื่องโรคเบาหวานชนิดนี้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะแทรกซ้อนและป้องกันการเกิดอีกด้วย

การวินิจฉัยโรคเบาหวานทำได้โดยการตรวจเลือดซึ่งมีหลายวิธี เช่น การตรวจระดับกลูโคสในพลาสมาขณะอดอาหาร (fasting plasma glucose) การทดสอบความทนกลูโคสทางปาก (oral glucose tolerance test) หรือการตรวจระดับฮีโมโกลบินไกลเคต (glycated hemoglobin, A1C)

อาการของโรคนี้โดยทั่วไปได้แก่ กระหายน้ำเพิ่มขึ้น ปัสสาวะมากและน้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ นอกจากนี้ ยังอาจมีอาการหิวบ่อย รู้สึกเหนื่อย และปวดไม่หาย โดยอาการต่างๆ มักมาอย่างช้า ๆ ทำให้ผู้ป่วยมักไม่รู้ตัวว่าเป็นโรคนี้ ซึ่งการที่ร่างกายไม่สามารถควบคุมน้ำตาลในเลือดได้นี้เอง ย่อมส่งผลให้ระบบการทำงานของร่างกายรวนตามไปด้วย รวมถึงโรคหัวใจ  และโรคความดันโลหิต ที่จะตามมา ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยคือการมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง (Hyperglycemia) ซึ่งจะมีอาการเหมือนโรคที่พบเห็นได้ทั่วไป ในลักษณะของการเกิดอาการเครียด มีไข้ ปวดศีรษะ ตาพร่ามัว หิวน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อย ไปจนถึงผิวแห้งและคันตามตัว ส่วนโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที จะทำให้เบาหวานลุกลามไปถึงอวัยวะต่าง ๆ มีทั้ง โรคเบาหวานที่ตา เลยไปถึงเข้าจอประสาทตา ซึ่งเป็นสาเหตุของตาบอดรองมาจากต้อกระจก เพราะเกิดการทำลายเส้นเลือดขนาดเล็กเป็นระยะเวลานาน และยังมีโรคอย่างไตวายเรื้อรัง ภาวะโรคแทรกซ้อนที่ประสาทส่วนปลายจากเบาหวาน โรคเส้นเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน มีการไหลเวียนโลหิตในแขนขาน้อยซึ่งอาจทำให้ต้องตัดอวัยวะออกด้วย  บางรายอาจพบภาวะเลือดเป็นกรดจากคีโตน (ketoacidosis) ได้แต่ไม่บ่อยนัก


แนวทางในการรักษาเบาหวานชนิดที่ 2 โดยปกติคือ การที่ผู้ป่วยได้รับยา metformin ร่วมกับการควบคุมอาหาร และการออกกำลังกาย โดยพยายามควบคุมระดับน้ำตาลเฉลี่ยไม่ให้เกิน 7% โดยคุมให้ลงภายในสามเดือน

มีการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิลในอังกฤษ พบผลที่น่าสนใจเกี่ยวกับโรคเบาหวาน ชนิดที่ 2 ว่า การควบคุมอาหารอย่างจริงจังสามารถช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาเป็นปกติได้  จากผลการวิจัยโดยศาสตราจารย์รอย เทย์เลอร์ ที่ทำการศึกษาเรื่องนี้มานาน 40 ปี พบว่า แม้จะป่วยด้วยโรคเบาหวาน ชนิดที่ 2 มานานนับสิบปี ก็สามารถหายได้ หากควบคุมการรับประทานอาหารให้ไม่เกินวันละ 600 แคลอรี่ เป็นเวลานาน 8 สัปดาห์   โดยหากเราสามารถลดปริมาณไขมันจากตับอ่อนได้ ก็จะช่วยให้การทำงานของตับอ่อนกลับมาเป็นปกติ และผลิตอินซูลินได้ดังเดิมนั่นเอง

สิ่งที่เราสามารถทำเพื่อหลีกเลี่ยงเบาหวานชนิดที่ 2 นี้คือ ต้องรู้จักควบคุมอาหาร หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสหวานจัด อาหารที่มีส่วนผสมพวกครีมต่าง ๆ สำหรับผู้ป่วยต้องดูแลตัวเอง ควรทานอาหารที่ผ่านกรรมวิธีอย่างนึ่ง ลวก หรือต้มจะดีที่สุด พูดง่าย ๆ คือเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์กับร่างกาย ที่สำคัญควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายและตรวจดูน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอ เพราะโรคนี้สามารถเป็นได้ทุกคน ยิ่งถ้าไม่ดูแลร่างกาย ไม่ออกกำลังกาย และยังไม่เลือกในการรับประทานอาหาร ก็จะมีภาวะเสี่ยงกับการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้

Cr. : Bangkok Hospital , www.siamhealth.net




banner 

 Please "Share" if you like ...

Comments